Business Model Canvas LINE – Freemium Model

LINE กลายเป็นแอพพลิเคชั่นอันดับ 1 ของคนไทย และ ประเทศไทยติดอันดับการใช้แอพพลิเคชั่นนี้เป็นอันดับ 2 ของโลกไปแล้วรองจากญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ผลิตและเริ่มต้นใช้งาน ด้วยจำนวนผู้ใช้งานคนไทย 33 ล้านคนด้วยอัตราการเติบโตต่อปีที่สูงถึง 37.5%

LINE เริ่มเปิดให้ใช้บริการครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อเดือน มิถุนายน ปี 2554 และเติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยจำนวนผู้ใช้งานมากถึง 50 ล้านคนภายในเวลาเพียงปีกว่า เท่านั้น ทั้งที่ Facebook และ Twitter กว่าจะมีผู้ใช้งานจำนวนเท่านี้ต้องใช้เวลาถึง 3 ปี

อะไรที่ทำให้ LINE ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามและมีที่ท่าว่าจะเติบโตต่อไปไม่หยุดจากแอพพลิเคชั่นเกี่ยวเนื่องใหม่ๆ ที่เราเห็นเพิ่มมาให้ได้เล่นกันเรื่อยๆ แล้วรายได้ของ LINE ที่เรา หรือ คนทั่วไปใช้ฟรีนั้นมาจากไหนบ้าง?

แผนภาพ Business Model Canvas ตอบโจทย์เหล่านี้ได้ชัดเจน และจากภาพรวมที่สื่อออกมาทำให้เราเห็นว่า LINE เป็นบริษัทที่ใช้ BMC ได้ในขั้นสูงสุด (BMC Level 3 : the invincible) คือมีการพัฒนาต่อเนื่องไม่หยุดแม้จะกำลังประสบความสำเร็จอย่างสูง

จริงๆ รูปแบบโมเดลธุรกิจของ LINE ในแง่ของกลุ่มลูกค้า (CS) นั้น ก็ คล้ายกับ Facebook
คือ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม

  1. คนทั่วไป
  2. ลูกค้าที่เป็นองค์กร
  3. คนที่ต้องการสร้างสติ๊กเกอร์หรือเกมส์ที่ต้องการสื่อผลงานของตัวเองผ่านไลน์

ส่วนที่ต่างกันกับ Facebook คือ คุณค่า (VP) ในส่วนที่ให้กับ กลุ่มลูกค้าที่เป็นองค์กร ที่ LINE ที่ให้องค์กรหรือบริษัทสามารถติดต่อสื่อสาร กับลูกค้าได้โดยตรง โดยได้รับการโต้ตอบตรงจากลูกค้าทันทีได้ด้วย
ในส่วนของรายได้ (R$) แน่นอนว่า สำหรับลูกทั่วไปๆอย่างเรา นั้น ใช้ฟรีกันอย่างสบายใจในเกือบทุกบริการ(Freemium) แต่ LINE ไปรับรายได้มหาศาลจากกลุ่มลูกค้าองค์กร ซึ่งถ้าเห็นราคาแว่บแรกก็คงรู้สึกได้ว่าสูงมาก

แต่ที่องค์กรต่างๆยอมจ่าย เพราะคุณค่า (VP) ชัดเจนที่ไลน์ให้ ในแง่ของปริมาณลูกค้าที่เข้าถึงสื่อซึ่งมีจำนวนมากแถมยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีกิจกรรมต่างๆที่ผู้ขายสามารถให้ลูกค้าได้โต้ตอบโดยตรงอีกด้วย

ถ้าคิดจากปัจจุบันที่ LINE มีผู้ใช้งานในไทยมากกว่า 33 ล้านคน และมีการส่งทั้งข้อความและสติ๊กเกอร์ถึงกันมากกว่า หมื่นล้านครั้งต่อวัน โอกาสที่ลูกค้าจะเห็นสินค้า และได้ร่วมกิจกรรมกับผู้ขายนั้น ดูจะมีมากกว่าสื่ออื่นๆ แบบเทียบไม่ได้

การสร้างความสัมพันธ์ (CR) ก็เป็นรูปแบบเดียวกับที่ทำให้ Facebook ประสบความสำเร็จมาก่อน คือการที่ทำให้ลูกค้าฝั่งคนทั่วไปได้รับบริการฟรี (Freemium) จะได้เข้ามาใช้กันเป็นจำนวนมาก และ ทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้กลายเป็นลูกค้าขององค์กรที่เป็นลูกค้าจริงของทางบริษัท LINE เพราะสร้างรายได้มหาศาล

การสร้างความสัมพันธ์ (CR) หรือการทำให้ลูกค้าซื้อซ้ำหรือ เข้ามาใช้บริการ
สำหรับฝั่งลูกค้าทั่วไป เรียกว่าการสร้างผลกระทบต่อเนื่องในกลุ่มเครือข่ายเดียวกัน (Same network side effect) คือยิ่งเพื่อนใช้ คนรอบตัวก็ใช้แอพพลิเคชั่นนี้ในการติดต่อสื่อสารมากเท่าไรก็ยิ่งดึงให้คนใหม่ๆต้องเข้ามาใช้เพื่อให้ติดต่อกับผู้คนได้มากขึ้นเรื่อยๆเป็นทอดๆไปไม่สิ้นสุดตราบเท่าที่ทุกคนรอบตัวยังคงใช้มันอยู่

สำหรับฝั่งลูกค้าองค์กร เรียกว่าการสร้างผลกระทบไปอีกฟากของเครือข่าย (Cross network side effect) คือการทำให้ลูกค้าที่ใช้บริการกลุ่มใหญ่กลายไปเป็นลูกค้าของผู้ที่เป็นองค์กร หรือ ผู้ขายสินค้า เพราะงั้นผลก็ออกมาเหมือนกัน คือ LINE ไม่ต้องง้อฝั่งผู้ขายมากนัก แต่โชว์ตัวเลขให้ผู้ขายอยากเข้ามาขายสินค้าจากประโยชน์ของเครือข่ายผู้ใช้จำนวนมาหาศาลที่นับวันจะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆนั่นเอง

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วมองเห็นภาพรวมธุรกิจของ LINE ว่า Business Model เค้าเป็นอย่างไรบ้างคะ?
LINE ช่างคิดได้ลึกซึ้ง และ พัฒนาต่อเนื่องไปไม่หยุดจริงๆ
แล้วธุรกิจคุณล่ะ??? จะดีไหมถ้าไม่ต้องง้อลูกค้า ไม่ว่าทางไหน แต่มีคนมาขอใช้บริการเราเองเพราะความคิดที่เชื่อมโยงครบถ้วน

เขียนมายาวละ ขอบคุณที่อ่านมาถึงตรงนี้ ทั้งหมดที่เล่าให้ฟังในหน้านี้เป็นเพียงส่วนหน้าบ้านที่เราเห็นกันของ LINE เท่านั้น ติดตามอ่านต่อ ไลน์ แอพพลิเคชั่นที่คนไทย ใช้งานเป็นอันดับ 2 ของโลก (ตอนที่ 2)—-กลยุทธเปลี่ยนพันธมิตรเป็นลูกค้า ที่จะเล่าต่อถึงฝั่งหลังบ้านของ Business Model Canvas ของ LINE กันนะคะ

ดาวน์โหลดฟรี
คู่มือการสร้างโมเดลธุรกิจ

ไอเดียต่อยอดธุรกิจ

Case Study

คอร์สประจำเดือน

ติดอาวุธธุรกิจด้วย BMC

เริ่มธุรกิจที่ใช่ ให้ไปรุ่ง

แชทสอบถาม

Scroll to Top