“ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอะไร ผู้บริหารก็มักจะเลือกทางแก้ที่ได้ผลเร็วกว่าและประหยัดเวลา
แทนที่จะเลือกวิธีที่ให้ผลลัพธ์ดีกว่าในระยะยาว” จากหนังสือ Start with Why by Simon Sinek
เมื่อคืนอ่านถึงตรงนี้แล้วเห็นภาพทั้งที่ตัวเองเคยทำและสิ่งที่หลายท่านที่มาปรึกษาทำแล้วทำอีกกับการแก้ปัญหาต่างๆ ที่ต้องการความรวดเร็วทันใจแต่สุดท้ายส่งผลให้มีปัญหากว่าเดิม!
คุณเคยได้ยินคำโฆษณาเหล่านี้มั้ย?
“พุงยุบภายใน 15 นาที” “สลายไขมันหน้าท้อง ง่ายๆ ใน 3 วัน”
คนที่หลงเชื่อโฆษณาเหล่านี้ คือคนที่ไม่อยากทำสิ่งที่ทุกคนรู้อยู่แล้วว่า จะได้ผลจริงในระยะยาว
นั่นคือ การควบคุมอาหารและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
หนังสือบอกว่า คำโฆษณาเหล่านี้คือ การปลุกเร้า คือกระตุ้นให้ทำได้ชั่วคราว แล้วพอไม่ได้รับการกระตุ้นก็เลิก
จึงมีคนมากมายที่ตั้งใจลดน้ำหนักในระยะสั้น แล้วก็ไม่ได้ผล
ซักพักพอเห็นโฆษณาก็ค่อยกลับไปลองวิธีใหม่ที่น่าสนใจอีกซักแป๊บแล้วก็เลิก วนไปมาอยู่อย่างนี้ สินค้าก็เลยขายได้เรื่อยๆ
———————————————————-
ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้ใช้ได้ผลดีกับเพียงแค่เรื่องของB2C
แต่ใช้ได้ผลดีกับเรื่องของ B2B ด้วย (ขอใส่ประสบการณ์ของน้ำเข้าไปบางส่วนด้วยนะคะ)
สิ่งที่เห็นได้เลยเรื่องของการปลุกเร้าในองค์กรก็คือการจัดกิจกรรม Team Building ก็ดูเหมือนจะสนุกกัน 2 วัน
พอกลับไปทำงานก็แบบเดิม หรือ บางแผนกที่ทะเลาะกันก็กลับไปทะเลาะกันเหมือนเดิม
และบริษัทส่วนใหญ่ก็จัดแบบเดิมอีกทุกปี โดยที่ปัญหาในบริษัทอาจไม่ได้ลดลง…
แปลกมั้ยที่เป็นแบบนั้น?
การจ้างที่ปรึกษาราคาแพงมาวางระบบงานใหม่โดยหวังจะแก้ปัญหาได้ในระยะเวลาสั้นก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง
ที่สุดท้ายก็แก้ไม่ได้แล้วก็ไม่ได้อยากจ้างต่อในระยะยาว
เราคงลืมไปว่า การอบรม 1 วันแต่ไม่มีใครสานต่อเอาไปทำจริงจังก็เป็นแค่เพียงความรู้ที่จบไปทันที
ส่วนการวางระบบ ถึงระบบจะดีแค่ไหน ถ้าทุกคนไม่ทำตามก็ไม่มีผล
การจ้างที่ปรึกษาราคาแพงเพื่อหวังว่าจะได้ผลลัพธ์ทันทีจึงเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าคุณไม่ได้ตั้งใจที่จะค่อยๆ แก้ปัญหาที่ต้นเหตุที่แท้จริงก่อน เช่น เรื่องวัฒนธรรมองค์ที่ส่งผลลบต่อประสิทธิภาพการทำงานซึ่งมักมีผลมาจากการที่ใครบางคนในองค์กรทำผิดแล้วไม่ได้รับโทษ คนอื่นก็เลยเห็นว่าคงทำได้ก็ทำตามๆกันมาแบบไม่ใส่ใจ
พวกกฎบางอย่างก็เช่นกัน ตั้งๆ กันมาแต่ไม่ได้มีใครไปคุมจริงจัง ผลคือนอกจากจะไม่มีใครสนใจจะทำแล้ว ต่อไปการออกกฎใหม่ก็จะถูกละเลยด้วย
เรื่องกฎนี่ ผู้บริหารมีส่วนมาก เพราะส่วนใหญ่มักจะเอาแต่ใจ ข้ามกฎซะเอง หรือ การสั่งงานข้ามชั้น(ข้ามคนที่คุมกฎ หรือ หัวหน้างานไปสั่งตรงเอง) ทำให้คนไม่สนใจเรื่องของกฎและอำนาจของคนคุมกฎก็ถูกลดทอนส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในระยะยาวของทั้งผู้บริหาร และ การได้รับการยอมรับของหัวหน้างานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้คุมกฎ
———————————–
ขอจบบทความด้วยประโยคในหนังสือ start with why ของท่านที่เป็นที่ปรึกษาบริษัทระดับพันล้านว่า
“พวกเค้า(บริษัทลูกค้า)ไม่เคยมีเงินและเวลามากพอที่จะเลือกวิธีที่เหมาะสมตั้งแต่แรก
แต่พวกเค้ากลับมีเงินและเวลามากพอที่จะลองอีกครั้งอยู่เสมอ”
แล้วคุณล่ะคะ ที่ผ่านมาเลือกลองทางที่ให้ผลเร็วที่สุดแล้วก็ต้องแก้ไขทำใหม่ ทำใหม่ ไปกี่ครั้ง?
รวมๆแล้วคุณเสียเงินและเวลาไปมากเท่าไร?
ถ้าเลือกได้คุณอยากทำแบบนั้นอีกมั้ย?